Welcome to T.H.N-Guidance ยินดีต้อนรับสู่...งานแนะแนวโรงเรียนถาวรานุกูล จังหวัดสมุทรสงคราม

วันอาทิตย์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2554

เรียนไป ทำงานไป ได้เงินด้วย จริงหรือเปล่า???
       เห็นใครๆ ก็บอกว่าสายอาชีพเรียนไปทำงานไปได้ จริงหรือเปล่า? ก็ในเมื่อต้องเอาเวลาไปเรียนเหมือนกัน แถมเรียนภาคปฏิบัติก็เยอะ จะเอาเวลาไหนไปทำงาน? ตกลงว่าได้ทำงานจริงๆ หรือเปล่า??
       ขอตอบว่า จริงส่วนหนึ่งค่ะ เพราะมีหลักสูตรอาชีวศึกษากลุ่มหนึ่ง ที่เรียนไปทำงานไปพร้อมกันได้เลย แต่อีกส่วนหนึ่ง อาจทำงานหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับผู้เรียนค่ะ เพราะผู้เรียนก็เรียนที่โรงเรียนธรรมดา แต่ถ้ามีช่วงเวลาว่างก็อาจไปทำงานได้ เพราะกฎของโรงเรียนสายอาชีพ จะยืดหยุ่นให้สามารถทำงานพิเศษได้มากกว่าโรงเรียนสามัญ ดังนั้น นักเรียนจึงนิยมทำงานพาร์ทไทม์ไปด้วย เรียนไปด้วย เพราะฉะนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าคนเรียนสายอาชีพทุกคนจะทำงานไป เรียนไปด้วยนะ   แล้วเจ้ากลุ่มที่ว่า เรียนไป ทำงานไป มีเงินเดือนนี่เป็นแบบไหนนะ (คุ้นๆ เหมือนโฆษณาทางโทรทัศน์ไหม?) จะพาไปรู้จักค่ะ
กลุ่มที่ว่านี้  เรียกว่า  "การอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี" ความหมายที่พระราชบัญญัติการอาชีวศึกษา พ.ศ. 2551 ให้ไว้ว่า เป็นการจัดการศึกษาวิชาชีพที่เกิดจากข้อตกลงระหว่างสถานศึกษาอาชีวศึกษา หรือสถาบันกับสถานประกอบการรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ ในเรื่องการจัดหลักสูตร การเรียนการสอน การวัดและการประเมินผล โดยผู้เรียนใช้เวลาส่วนหนึ่งในสถานศึกษาอาชีวศึกษาหรือสถาบัน และเรียนภาคปฏิบัติในสถานประกอบการ รัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐ  พูดให้ง่ายก็คือ "เป็นนักเรียนในโรงเรียน และเป็นพนักงานของสถานประกอบการไปด้วย" เป็นคนสองสถานภาพ   โดยคนที่เลือกเรียนระบบนี้ ต้องเรียนวิชาสามัญและวิชาชีพพื้นฐานในโรงเรียน สัปดาห์ละ 1 - 2 วัน แล้วไปเรียนรู้และทำงานจริงในบริษัท 3 - 4 วัน ทั้งนี้ภายใต้การตกลงกันระหว่างโรงเรียนกับบริษัท  เป้าหมายหลักของระบบทวิภาคีนี้ก็คือ   เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้และทำงานได้ตรงตามความต้องการของบริษัทนั้นๆ นั่นเอง และผลประโยชน์ที่สำคัญแก่ผู้เรียนก็คือทักษะอาชีพจากการทำงานจริง ได้รับเบี้ยเลี้ยงจริง ได้ทั้งใบรับรองจบประกาศนียบัตรวิชาชีพ และใบรับรองการทำงานจากบริษัทเลยพอจบแล้วไปสมัครทำงานที่อื่นๆ จะยิ่งดูดีมีประสบการณ์ยิ่งขึ้นไปอีกนะ แต่ก็แน่นอนว่าอาจได้เข้าทำงานจริงๆ ที่บริษัทที่ฝึกอยู่ด้วย   ที่สำคัญการเรียนระบบนี้ จะช่วยฝึกคุณลักษณะนิสัยที่ดีให้เข้มข้นขึ้น คือ ความรับผิดชอบ ตรงต่อเวลา และอดทน เข้าใจการทำงานจริงมากขึ้น เพราะบริษัทจะเป็นผู้ตรวจสอบและประเมินการทำงานจริงๆ ด้วย ไม่เหมือนการไปฝึกงานทั่วๆ ไป การปฏิบัติต่อผู้เรียนก็จะเป็นแบบ  "คนทำงานมากกว่านักเรียน"  ดังนั้นจะเรียกว่า ฝึกความเป็นผู้ใหญ่ที่แท้จริง ก็ไม่แปลก ซึ่งคุณสมบัติของคนที่ต้องการเรียนในระบบทวิภาคีนี้ ต้องมีคุณสมบัติตรงตามทั้งที่โรงเรียนและบริษัทต้องการ จึงมักมีคัดเลือกและสัมภาษณ์เข้าเรียนจากบริษัทด้วย ถ้าสนใจการเรียนสายอาชีพระบบทวิภาคีนี้ จะต้องติดตามการประกาศรับสมัครจากโรงเรียนสายอาชีพหรือบริษัทที่เข้าร่วมระบบนี้ค่ะ  ตัวอย่างโรงเรียนที่เปิดสอนในระบบอาชีวศึกษาทวิภาคี เช่น โรงเรียนปัญญาภิวัฒน์เทคโนโลยีธุรกิจ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (ปัจจุบันเปิดสอนในระดับปริญญาตรี  4  สาขา  และปริญญาโทด้วยค่ะ)   ซึ่งปกติแล้วระบบทวิภาคีจะมีเปิดรับสมัครตามโรงเรียนสายอาชีพทั่วไป วิทยาลัยอาชีวศึกษา และวิทยาลัยเทคนิคประจำจังหวัดอยู่แล้ว แต่ต้องติดตามการรับสมัครตามแต่ละปีนั้นๆ (เรียกว่า ปวช.ทวิภาคี/ปวส.ทวิภาคี)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น